> A-01009 : การใช้เทคโนโลยี่ชีวภาพขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดา || Back

การใช้เทคโนโลยี่ชีวภาพขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดา


Platycerium ridleyi ชายผ้าสีดา-เขากวางตั้ง

[ Image : Mr. Moo]

การขยายพันธุ์เฟินทั่วไป เรามักใช้วิธีธรรมชาติ เช่น การเพาะสปอร์ แบ่งกอ ชำเหง้า เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่พวกเราสามารถทำเองได้ ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่สำหรับวิธีการที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นไป ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อ ทั้งต้องสามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อ การเจริญเติบของพืชได้ อาทิเช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องมีสูตรอาหารเฉพาะสำหรับพืชแต่ละชนิดอีก อ่านแล้วคุณคงรู้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่การขยายพันธุ์โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยี่ชีวภาพนั้น มีข้อดี และดีกว่ามากๆ ที่ ปริมาณของต้นกล้าที่ได้ออกมามากกว่าหลายเท่า ในระยะเวลาที่เท่าๆ กัน เมื่อเทียบกับการเพาะสปอร์แบบธรรมชาติ ที่พวกเราทำกัน
สำหรับบทความนี้ fernsiam.com เห็นว่า งานวิจัยเรื่องนี้ จะเป็นคุณประโยชน์อย่างมาก สำหรับการเพาะขยายพันธุ์เฟิน จึงได้ติดต่อไปขอข้อมูลจาก ท่านอาจารย์ ดร. วิไลลักษณ์ ชินะจิตร ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และท่านก็ได้กรุณาให้ข้อมูลตามที่ได้ขอไป



Platycerium coronarium
ชายผ้าสีดา สายม่าน
[ Image : Mr. Duang99 ]

การใช้เทคโนโลยีชีวภาพขยายพันธุ์ เฟินชายผ้าสีดา (Platycerium - Staghorn Ferns) เป็นผลงานการวิจัยภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเฟินสกุลชายผ้าสีดา โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับทุนอุดหนุนการทำวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กลุ่มผู้ร่วมงานวิจัยชิ้นนี้ มี นางสาววิไลลักษณ์ ชินะจิตร นางสาวกิตติมา เฆมโกมล และนางสาวดารา พิมพิศาล งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ทำเสร็จสิ้นแล้วเมื่อปี 2541 สรุปเนื้อหาพอสังเขปดังนี้

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเฟินสกุลชายผ้าสีดาทั้ง 4 ชนิดของไทย (ดูเฟินใน สกุล Platycerium ) จะทำจากการเพาะสปอร์ในสภาพปลอดเชื้อ บนอาหารวุ้นในขั้นแรกก่อน เมื่อสปอร์งอกเป็น prothallus จำนวนมากแล้ว (ภายใน 30 วัน) จะทำการย้ายเปลี่ยนอาหารที่มีสารควบคุมการเจริญเติบโต โดยการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของอาหาร
สังเคราะห์ให้เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนเนื้อเยื่อ prothallus ในระยะ gammetophyte ไปเป็นระยะ sporophyte ให้มีการเจริญเติบโตแบบ vegetative growth ให้แบ่งเซลล์จำนวนมากและพัฒนาไปเป็นต้นอ่อน sporophyte เล็กได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้มาจากการผสมของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย เหมือนกับการเพาะสปอร์ในธรรมชาติทั่วไป ทำให้วิธีการนี้ได้ต้นที่เร็วกว่า (ประมาณ 1-2 ปี) และจำนวนมากกว่ากันหลายเท่า

ท่านอาจารย์ ดร. วิไลลักษณ์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับ fernsiam.com ว่า ในเชิงพาณิชย์จะคุ้มทุนหรือไ่ม่นั้น ตอบได้ยาก เพราะการขยายพันธุ์ในสภาพปลอดเชื้อ ถึงแม้นจะเร็วและได้จำนวนมากกว่า แต่ค่าลงทุนก็สูงทั้งค่าสารเคมี ค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีราคาแพง แต่ถ้ามี lab เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่แล้ว หากต้องการจะขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดาเพิ่ม ก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือถ้าจะจ้างทำ ก็ต้องสอบถามราคากันก่อนว่าเท่าไรและจะคุ้มไหม แต่ถ้าเราคิดว่า สามารถขายได้ราคา ในจำนวนมาก คิดว่าน่าจะคุ้ม


Platycerium wallichii

ชายผ้าสีดา ปีกผีเสื้อ
[ภาพ : Mr. Bank_Buddy]


Platycerium holttumii
ชายผ้าสีดา หูช้าง(ไทย)
[ภาพ : Mr. Zup]

สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดของผลวิจัยเรื่องนี้ สามารถหาดูได้ที่ ห้องสมุดของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยฯ อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน

> A-01009 : การใช้เทคโนโลยี่ชีวภาพขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดา || Back